วันอาทิตย์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2555

โครงการ “จิตอาสา นำพาชาวเขา”

ผู้รับผิดชอบ    มิสลัดดา เซียรัมย์   หัวหน้าฝ่ายบุคลากร
            โครงการนี้เป็นโครงการที่คุณครูได้ร่วมกันจัดทำขึ้น โดยได้รับคำแนะนำจากเซอร์ฟรังซัวส     ชีรานนท์ ผู้อำนวยการ  โดยการจัดกลุ่มครูไปแบ่งปันความรู้และจัดกิจกรรมส่งเสริมความสามารถด้านวิชาการให้กับครูและนักเรียนโรงเรียนเซนต์โยเซฟ แม่แจ่ม ซึ่งเป็นโรงเรียนน้องของเรา


            โรงเรียนเซนต์โยเซฟ แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เป็นโรงเรียนสงเคราะห์ของคณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และช่วยเหลือเด็กชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ให้มีที่เรียนหนังสือ ทั้งผู้ปกครองและนักเรียนมีฐานะยากจน ผู้ปกครองส่วนใหญ่ทำงานด้านการเกษตร เด็ก ๆ หลายคนต้องเดินทางไกลเพื่อมาเรียน โรงเรียนจึงมีทั้งแผนกประจำและไป-กลับ จึงเป็นโอกาสให้คณะครูของโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ สีลม ได้ไปจัดกิจกรรมเพื่อเพิ่มความรู้ด้านวิชาการให้กับครูและนักเรียน ในปีการศึกษานี้โรงเรียนได้จัดโครงการนี้เป็นครั้งที่ 2 โดยเน้นเนื้อหาให้เป็นของกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย และครั้งที่ 3 เป็นเนื้อหาของกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ที่สอนภาคปฏิบัติเป็นการนำหลักการของวิทยาศาสตร์มาใช้ในชีวิตประจำวันแบบง่าย ๆ แต่มีประโยชน์


           คณะครูมีการประชุมเพื่อจัดเตรียมเนื้อหา สื่อการสอนและรูปแบบการจัดกิจกรรมไปจากโรงเรียน เมื่อไปถึงมีการจัดกิจกรรมเต็มรูปแบบ นักเรียนของโรงเรียนเซนต์โยเซฟ แม่แจ่ม มีความตั้งใจสูง ให้ความสนใจและร่วมกิจกรรมอย่างดี ทำให้มีบรรยากาศเป็นไปอย่างสนุกสนาน เป็นกันเอง แม้ว่าจะมีปัญหาในด้านภาษาที่สื่อสารบ้าง แต่ก็เป็นไปได้ด้วยดี ด้วยความช่วยเหลือจากคุณครูของโรงเรียนเซนต์โยเซฟ แม่แจ่ม และคณะเซอร์



            ผลจากการจัดกิจกรรม นอกจากทำให้นักเรียนได้รับโอกาสในการเรียนรูปแบบใหม่ ๆ ที่น่าสนใจแล้ว คณะครูของเราเองก็รู้สึกมีความสุข ที่ได้แบ่งปันประสบการณ์ให้กับเพื่อนครูและนักเรียนของโรงเรียนเซนต์โยเซฟ แม่แจ่ม และนำประสบการณ์ต่าง ๆ มาแบ่งปันให้กับนักเรียนของเราด้วย โครงการนี้ยังคงดำเนินการต่อไป โดยจะเปลี่ยนเนื้อหาการเรียนรู้และรูปแบบของกิจกรรมให้มีความหลากหลายและเกิดประโยชน์กับนักเรียนให้มากยิ่งขึ้น



โครงการพัฒนาทักษะการคิด

ผู้รับผิดชอบ    มิสปทิตตา โลเกศกระวี           ผู้รับผิดชอบห้อง Salle de la Sagesse
            การจัดการเรียนการสอนเพื่อนพัฒนาทักษะการคิด เป็นการจัดประสบการณ์เรียนรู้ที่เน้นกระบวนการมากกว่าเนื้อหาสาระวิชา ทั้งนี้เนื่องจากการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาทักษะการคิดประกอบด้วยองค์ความรู้ที่ก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์แก่ผู้เรียน 3 ด้านคือ
1.     ด้านความรู้ (Knowledge : K) แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1.1 เนื้อหาสาระของวิชานักคิด คือ สาระวิชาที่ผู้เรียนต้องเรียนรู้ ประกอบด้วยเครื่องมือช่วยคิด กระบวนการคิด ทักษะการคิด
1.2 ความรู้บูรณาการ คือ สาระเรื่องราวต่าง ๆ ที่เป็นสภาพการณ์ที่กำหนดสภาพแวดล้อมรอบตัว ปัญหาในชีวิตประจำวันที่ถูกนำมาคิด ซึ่งเนื้อหาจะเป็นสาระของวิชาใดก็ได้ จึงเป็นความรู้เชิงบูรณาการ
2. ด้านกระบวนการ(Process : P) คือ กระบวนการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนากระบวนการคิดที่เน้นการฝึกปฏิบัติจริง ได้สร้างผู้เรียนให้เกิดทักษะชีวิตพื้นฐาน 7 ประการ ได้แก่
  1. ทักษะการรู้จักตนเอง
  2. ทักษะการคิด การตัดสินใจและการแก้ปัญหา
  3. ทักษะการแสวงหาข้อมูล ข่าวสาร ความรู้
  4. ทักษะการปรับตัว
  5. ทักษะการสื่อสารและสร้างสัมพันธภาพ
  6. ทักษะการวางแผน และการจัดการ
  7. ทักษะการทำงานเป็นทีม
3. เจตคติ(Attitude : A) คือ คุณลักษณะที่ปลูกฝังของรายวิชา ได้แก่ ใจกว้าง ขยัน ใฝ่เรียนใฝ่รู้กระตือรือร้นช่างคิดผสมผสาน ขยัน ต่อสู้ อดทน เป็นธรรม มั่นใจในตนเอง ช่างวิเคราะห์ กล้าคิดกล้าเสี่ยง มีน้ำใจ น่ารักน่าคบ เป็นต้น


จากองค์ความรู้ของการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนากระบวนการคิดดังกล่าว ได้เป็นแนวทางให้ ครูผู้สอนดำเนินการจัดการเรียนการสอน โดยการจัดประสบการณ์ สภาพการณ์หรือสิ่งเร้ามากระตุ้นให้ผู้เรียนได้เกิดการคิดตามองค์ประกอบของความคิดอันประกอบด้วย เครื่องมือช่วยคิด ทักษะการคิด คุณสมบัติที่เอื้อต่อการคิดเพื่อให้ผู้เรียนมีด้านความรู้ (Knowledge : K)กระบวนการ (Process : P) และเจตคติ (Attitude : A) มีการแก้ปัญหาอย่างมีระบบมีประสิทธิภาพ มีการตัดสินใจอย่างไตร่ตรอง รอบคอบ และพร้อมในการปรับตัวเพื่อเข้าสู่โลกอนาคตซึ่งเป็นเป้าหมายของหลักสูตร
ครูเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความคิดของผู้เรียน องค์ประกอบที่จะพัฒนาความคิดในตัวผู้เรียนอยู่ที่เทคนิคและวิธีการสอนของครูผู้สอน ที่จะช่วยกระตุ้น ส่งเสริม และพัฒนาความคิดของผู้เรียนให้งอกงามขึ้น ครูก็ควรจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับความเหมาะสม ความต้องการของผู้เรียน โดยหาเทคนิควิธีการสอนใหม่ ๆ แปลก ๆ มุ่งให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง คอยติดตามให้กำลังใจพร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีอิสระในการแสดงออกด้วยการพูด หรือการกระทำตามจินตนาการและความพึงพอใจของผู้เรียน ก็จะช่วยพัฒนาความคิดของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี
ในปีการศึกษาที่ผ่านมา ผู้บริหารของโรงเรียนได้สนับสนุนโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยสร้างห้อง Salle de la Sagesse ขึ้น เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกทักษะการคิดอย่างเต็มที่ เน้นการสร้างพื้นฐานให้แก่นักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ 2 เป็นพิเศษ ขณะเดียวกันก็ยังมีกิจกรรมรองรับนักเรียนได้ทุกระดับชั้น


องค์ประกอบของห้อง Salle de la Sagesse แบ่งออกเป็น 10 ส่วน ซึ่งรวมถึงการพัฒนาความสามารถของนักเรียนด้านพหุปัญญา การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการแสวงหาความรู้ การลงมือปฏิบัติในด้านความเป็นกุลสตรี เป็นต้น ครูผู้รับผิดชอบและครูผู้สอนร่วมกันเตรียมการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ให้สอดคล้องกับวัยและเนื้อหาสาระของการเรียนในระดับชั้นต่าง ๆ และเน้นการ บูรณาการเป็นหลัก รวมทั้งโรงเรียนยังสนับสนุนให้คุณครูทุกท่านจัดการเรียนการสอนที่พัฒนาทักษะการคิดในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้อีกด้วย
จากการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของห้อง Salle de la Sagesse ทำให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ ได้ฝึกคิด ฝึกปฏิบัติ เรียนรู้การแก้ปัญหา มีความสามารถในการบรรยาย วิพากย์ วิจารณ์ ได้แบ่งปันความรู้และวิธีการต่าง ๆ แก่เพื่อน ๆ และน้อง ๆ รวมทั้งสรุปเป็นความรู้ที่มีประโยชน์และสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งสอดคล้องกับเอกลักษณ์ของโรงเรียนที่ว่า “รู้กว้าง ใจกว้าง”




โครงการส่งเสริมการอ่านเพื่อพัฒนาการเรียนรู้

ผู้รับผิดชอบ    มิสผกาแก้ว แจ้งสว่าง บรรณารักษ์
            การอ่านทำคนให้เป็นคนโดยสมบูรณ์ เป็นคำกล่าวของ เซอร์ฟรานซิส เบคอน นักปรัชญาชาวอังกฤษ แสดงให้เห็นว่า การอ่านเป็นสิ่งสำคัญสำหรับมนุษย์ เป็นหนึ่งในสี่ของทักษะทางภาษาที่จำเป็นต้องฝึกฝนอยู่สม่ำเสมอและสามารถฝึกฝนได้เรื่อย ๆ ตามวัยและประสบการณ์ไม่มีวันสิ้นสุด เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้มนุษย์ได้รับความคิด ความรู้และความบันเทิง มีผลต่อชีวิตและจิตใจของมนุษย์ให้เจริญยิ่งขึ้น
            ศูนย์วิทยบริการของโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ สีลม จึงได้จัดโครงการส่งเสริมการอ่านเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ขึ้น มีการจัดกิจกรรมอย่างหลากหลาย เพื่อให้นักเรียนได้รับความรู้จากการอ่านอย่างเต็มที่ และสามารถนำผลที่ได้จากการอ่านไปประยุกต์ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน เป็นการสร้างนิสัยให้นักเรียนเป็นผู้ที่สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต


            “กิจกรรมยุวบรรณารักษ์” เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมนักเรียนให้นักเรียนได้เรียนรู้หน้าที่ของบรรณารักษ์ คอยบริการและอำนวยความสะดวกในการใช้ห้องสมุดให้กับเพื่อน ๆ กิจกรรมนี้เปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงถึงความเป็นผู้มีจิตสาธารณะและเสียสละ มีการเปิดรับสมัครผู้ที่จะเป็น    ยุวบรรณารักษ์ มีการคัดเลือก ทำความเข้าใจและกำหนดหน้าที่รับผิดชอบ ยุวบรรณารักษ์คอยช่วยเหลือคุณครูทุกช่วงพัก หรือบางครั้งในช่วงเช้าและเย็นด้วย จากการจัดกิจกรรมที่ผ่านมา ยุวบรรณารักษ์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง ทำให้การดำเนินงานของห้องสมุดเกิดความคล่องตัว เป็นระเบียบ และบริการหนังสือให้กับเพื่อน ๆ ได้อย่างทั่วถึง ทั้งในห้องสมุดและบริเวณสนามที่จัดกิจกรรมห้องสมุดเคลื่อนที่ นอกจากนั้นยุวบรรณารักษ์ยังคอยแนะนำหนังสือใหม่ และให้ความช่วยเหลือคุณครูขณะที่ทำกิจกรรมอื่น ๆ ของห้องสมุดด้วย


            “กิจกรรมห้องสมุดเคลื่อนที่” เป็นกิจกรรมเชิงรุก โดยการนำหนังสือที่คัดสรรแล้วไปบริการให้กับนักเรียนทั่วบริเวณสนามของโรงเรียน ทำให้นักเรียนสะดวกในการอ่าน โดยเฉพาะในช่วงเวลาว่างระหว่างพัก ยุวบรรณารักษ์จะเป็นผู้นำหนังสือใส่ตะกร้าออกไปบริการ จัดทำสถิติ เก็บหนังสือให้เป็นระเบียบและนำมาเก็บไว้ในห้องสมุด มีการประเมินหนังสือที่ได้รับความสนใจและมีการปรับเปลี่ยนหนังสือตามความเหมาะสม กิจกรรมนี้ทำให้นักเรียนเข้าสู่โลกของการอ่านได้อย่างรวดเร็ว ไม่จำเป็นต้องเข้าไปในห้องสมุดทุกวัน
            “กิจกรรมป้ายนิเทศและแหล่งเรียนรู้” เป็นกิจกรรมเชิงรุกอีกรูปแบบหนึ่ง โดยมีการจัดทำป้ายนิเทศที่ให้ความรู้ มีความสวยงามและน่าสนใจ เป็นการเชิญชวนให้นักเรียนสามารถอ่านหนังสือได้ตลอดเวลา การจัดทำป้ายนิเทศมีทั้งส่วนที่เป็นของคุณครูและส่วนที่เป็นของนักเรียน จัดไว้ทั้งในและนอกห้องเรียน นอกจากนั้นยังมีในส่วนที่ทำเป็นป้ายสามเหลี่ยม หรือติดไว้ตามเสา มีการปรับเปลี่ยนและมีจำนวนมากพอสำหรับการบริการให้กับนักเรียน ในส่วนของแหล่งเรียนรู้ มีการจัดแหล่งเรียนรู้   อย่างหลากหลายตามห้องปฏิบัติการต่าง ๆ และสนับสนุนให้ทุกเรียนมีมุมที่เป็นแหล่งเรียนรู้ประจำห้องอีกด้วย
            “กิจกรรมยอดนักอ่าน” เป็นกิจกรรมที่ห้องสมุดทำร่วมกับทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ นักเรียนสามารถสะสมจำนวนหนังสือที่นักเรียนได้อ่าน รวมทั้งทำสรุปย่อประโยชน์และความรู้ที่ได้จากหนังสือเล่มนั้น ๆ บันทึกลงในสมุด ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นคลังความรู้ส่วนตัวของนักเรียนเอง มีการมอบเกียรติบัตรยอดนักอ่านสำหรับผู้ที่อ่านหนังสือได้มากที่สู่ในแต่ละระดับชั้น และมีการแข่งขันตอบปัญหาจากหนังสือที่ครูแนะนำให้อ่านด้วย


            “กิจกรรมแหล่งเรียนรู้คู่ชีวิต” เนื่องจากโรงเรียนของเรามีความจำกัดทางด้านสถานที่ ห้องสมุดร่วมกับทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้จึงจัดแหล่งเรียนรู้ชั่วคราวให้กับนักเรียนหมุนเวียนกันไป เช่น ในสัปดาห์วิทยาศาสตร์ มีการจัดฐานการเรียนรู้ในเรื่องที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ให้นักเรียนสามารถเข้ามาแสวงหาความรู้และร่วมทดลองทางวิทยาศาสตร์ ในสัปดาห์ภาษาไทย มีการจัดฐานการเรียนรู้ในเรื่องภาษาไทยหลากหลายรูปแบบ เช่น จัดตั้งศิลาจารึกจำลอง เป็นต้น กิจกรรมนี้ได้รับความสนใจจากนักเรียนเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมประกอบอีกหลายอย่างเช่น การแข่งขันทางวิชาการ การแสดงความสามารถด้านการแสดง  ฯลฯ
              “กิจกรรมห้องสมุดมีชีวิต” เป็นกิจกรรมที่ห้องสมุดจัดขึ้นเพื่อแสดงสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่น่าสนใจและมีอยู่ในหนังสือ นำมาให้นักเรียนได้เห็นและสัมผัสกับของจริง ซึ่งบางครั้งนักเรียนได้แค่อ่านหรือศึกษาจากรูปภาพ บรรณารักษ์จึงได้จัดมุมการแสดงสิ่งของขึ้น เช่น มะม่วงผลยักษ์ ต้นไม้   ต่าง ๆ เงินตรา เหรียญกษาปณ์ ฯลฯ กิจกรรมนี้ยังตอบสนองความต้องการของนักเรียนโดยตรง นักเรียนสามารถระบุสิ่งของต่าง ๆ ที่อยากเห็นหรืออยากสัมผัสได้



โครงการสัมผัสชีวิต

ผู้รับผิดชอบ    มิสปัทมา เมืองลี  หัวหน้างานสัมพันธ์ชุมชน
            โครงการสัมผัสชีวิตเป็นโครงการต่อเนื่องที่ดำเนินงานมานานหลายปี แต่ในปีการศึกษานี้ได้มีการพัฒนารูปแบบการดำเนินงานให้มีความหลากหลาย และเน้นให้สมาชิกทุกคนในบ้านอัสสัมชัญคอนแวนต์ สีลมได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่


            ลักษณะเด่นของโครงการ คือ เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ฝึกความเป็นผู้มีจิตสาธารณะและร่วมรับผิดชอบสังคม โดยร่วมกิจกรรมการนำสิ่งของและทุนทรัพย์ไปมอบให้กับผู้ด้อยโอกาสและคนพิการตามสถานที่ต่าง ๆ ก่อนการจัดกิจกรรมจะมีการประชุมเพื่อศึกษาปัญหา กำหนดเป้าหมายและวางแผนการดำเนินงาน โดยคัดเลือกสถานที่ที่จะไปจัดกิจกรรมให้เหมาะสม สะดวกและไม่อยู่ไกลจนเกินไป รวมทั้งปลูกฝังให้นักเรียนรู้จักประหยัด อดออมและเสียสละ เพื่อให้ได้เงินบริจาคจากการเก็บเงินสะสมด้วยตนเองโดยไม่รบกวนผู้ปกครอง  เมื่อไปถึงมีการจัดกิจกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อเป็นการส่งความสุขและบรรเทาใจผู้พิการ ในปีการศึกษานี้ได้คัดเลือก “มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ” พัทยา จ.ชลบุรี เป็นสถานที่จัดกิจกรรม เนื่องจากมีคนพิการที่หลากหลาย ซึ่งรวมไปถึงเด็กเล็ก ๆ ที่พิการด้วย โดยจิตตารมณ์ของคณะพระมหาไถ่ผู้ที่ก่อตั้งสถานที่นี้น่าสนใจมาก คือ เป็นการช่วยเหลือผู้ที่ยากลำบากให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่เป็นภาระแก่ผู้อื่นและเป็นผู้มีน้ำใจเสียสละเพื่อสังคม



            การเดินทางไปจัดกิจกรรมครั้งนี้ประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง โดยเฉพาะกับนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมซึ่งได้คัดเลือกมาจากนักเรียนในทุกระดับ นักเรียนมีความประทับใจและได้เรียนรู้ถึงความยากลำบากและความพยายามที่จะช่วยเหลือตนเองของผู้พิการ ที่ต้องใช้ความตั้งใจ ความอดทน และใช้เวลายาวนาน ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินชีวิตของนักเรียนต่อไป


ASCs’ Best Practice

Best Practice คือ วิธีการปฏิบัติที่ดีเลิศ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่เกิดจากการลงมือปฏิบัติจริง สามารถแก้ปัญหาและพัฒนางานจนเกิดเป็นผลสำเร็จที่เป็นเลิศได้ สามารถนำมาใช้เป็นแบบอย่างในการดำเนินงานในลักษณะเดียวกัน
ความเป็นมา
โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ สีลม ได้กำหนดแนวทางการจัดทำ Best Practice เพื่อค้นหาวิธีปฏิบัติที่ดีเลิศ ซึ่งเป็นบทเรียนจากประสบการณ์จริง เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบปฏิบัติงาน และมีประโยชน์ต่อการพัฒนางาน โดยในปีการศึกษา 2554 นี้ได้เริ่มจัดทำ Best Practice จำนวน 4 เรื่อง ในแต่ละเรื่องจะมีกระบวนการพัฒนางานร่วมกันของบุคลากรหลายฝ่าย ตามแนวคิดของวงจรการบริหารงานคุณภาพ(PDCA) ซึ่งประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ดังนี้
1.        ขั้นการวางแผนร่วมกัน  มีการจัดการประชุมเพื่อวางแผนงาน โดยเริ่มจากการวิเคราะห์สภาพและสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อใช้เป็นแนวทางในการหาวิธีดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จัดทำเป็นโครงการ กำหนดเป้าหมาย สร้างวิธีดำเนินงานและกำหนดกรอบระยะเวลา
2.        ขั้นการดำเนินงานร่วมกัน มีการนำเสนอโครงการเพื่อขออนุมัติจากผู้บริหาร แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน ลงมือปฏิบัติงาน
3.        ขั้นตรวจสอบร่วมกัน หลังจากมีการดำเนินงานตามโครงการแล้ว คณะกรรมการที่รับผิดชอบด้านการตรวจสอบประเมินผลโครงการตามวัตถุประสงค์ของโครงการและรายงานผล
4.        ขั้นปรับปรุงและพัฒนาร่วมกัน มีการนำผลมาเสนอในที่ประชุม ร่วมกันวิเคราะห์เพื่อหาข้อสรุปในการปรับปรุงและพัฒนาโครงการที่จะทำในโอกาสต่อไป